ขอให้ชาวนครพนม คัดค้านการนำเอาพระธาตุพนม ไปประดับบนยอดหลังคาอาคารด่านศุลกากรนครพนม ที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม

16 ก.พ. 2553

ความทรงจำเล็กๆน้อยๆ เกี่ยวกับคำว่า " ชินวัตร " และ " ทักษิน "

          ครั้งแรกที่เห็นคำว่า " ชินวัตร " ก็ราวช่วงปี 2510 สมัยไปเรียนมัธยมที่กรุงเทพฯ  ในยุคที่วัยรุ่นนิยมแต่งม๊อดแต่งเดฟใส่ขาบานขาลีบกัน  และความกิ๊บเก๋ของเด็กวัยเรียนที่ต้องไว้ผมสั้นแต่ก็ชอบทาตันโจให้ผมตั้งกัน   ตันโจคือครีมแต่งผมให้ตั้งเด่ได้  บรรจุในแท่งกระบอกเหมือนกับที่ทารักแร้ของวัยรุ่นมีกลิ่นแปลกๆ  ถ้าเทียบกับสมัยนี้ก็คือ เจลใส่ผมแข็งนั่นเอง
               ด้วยความชอบเที่ยวห้างใหญ่ เพราะแอร์เย็นเจี๊ยบแถมยังมีสินค้าราคาแพงทันสมัยสวยงามกว่าร้านริมถนนทั่วไป โดยเฉพาะห้างดังๆอย่างเซ็นทรัลสีลมที่จัดว่าเป็นอันดับหนึ่ง  ในวันหยุดหรือถ้ามีเวลาว่างก็ชอบหลบลมร้อนไปเดินเท่ในห้างดูหนังสือหนังหาเสื้อผ้าที่ออกใหม่ให้ฉ่ำใจๆ  ไอ้เรื่องจะซื้อนั้นเหรอให้ฝันไปเลย  เพราะเสื้อเก๋ๆตัวนึงนั้นเกือบเท่ากับเงินที่พ่อแม่ส่งให้ใช้ทั้งเดือนนะสิ  แต่ก็นานๆครั้งหรอกที่พอเก็บเงินได้ถึงมีปัญญาซื้อ  ทุกครั้งที่ไปห้างก็สังเกตเห็นตึกทันสมัยที่อยู่ติดกันด้านหน้าเป็นห้องกระจกและมีป้ายเขียนว่า " ชินวัตรไหมไทย " ภายในร้านจะเห็นพับผ้าไหมหลากสีวางเป็นชั้นๆอยู่ในตู้และสินค้าที่ทำจากผ้าไหมเช่น เสื้อผ้า เน็คไทค์ ฯลฯ  ในตอนนั้นก็คิดว่า คงเป็นร้านขายของที่ระลึกสำหรับพวกฝรั่งนักท่องเที่ยวเหมือนกับร้านค้าอื่นๆทั่วไปในย่านถนนสีลม
              ในช่วงปี 2534 มีโอกาสจากอีสานไปเยี่ยมเยือนพรรคพวกที่ภูเก็ต  สังเกตว่าคนใต้ชอบคุยเรื่องเศรษฐกิจการเมืองจริงๆและนิยมพก เพจเจ้อร์ (อุปกรณ์การสื่อสารจำพวกบริการวิทยุติดตามตัว เช่นโฟนลิ้งค์ แพคลิ้งค์ ) ติดเอวกันแทบทุกคน  ถ้าเขาว่างเมื่อไหร่ก็ชอบคุยกันในเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องว่าใครเหนือกว่าใคร  ก็มีอยู่ครั้งที่ได้ยินพรรคพวกร่วมโต๊ะพูดว่า โฟนลิ้งค์ของทักษินทันสมัยกว่าแพคลิ้งค์  ในตอนนั้นตัวเองก็บ้านนอก ซะ จนไม่รู้ว่า ทักษิน นั้นเป็นใคร
               ในปลายปี 2536 ได้ดูข่าวในพระราชสำนัก เรื่องการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพฯไปเป็นประธานการยิงดาวเทียมไทยคม พร้อมกับแขกวีไอพีหลายคน ( ดูในรูปเอาเองว่ามีใครบ้าง ) ที่เมืองคูรู ประเทศเฟร็นซ์ เกียน่า ทวีปอาฟริกาใต้  นี่เป็นครั้งแรกที่เห็นทักษินในข่าวและก็คิดว่าหลายๆคนก็คงอยากจะเห็นทักษินด้วยว่าหน้าตาของคนใจถึงนั้นเป็นอย่างไร เพราะโครงการนี้กู้เงินมาลงทุนสูงถึง 5,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการไม่มีปัญญาผ่อน  หลังจากนั้นในต้นปี 2537 บริษัทชินวัตรแซทเทลไลท์ ก็เข้าตลาดหลักทรัพย์  เป็นธุรกิจดาวเทียมผูกขาดรายเดียวของประเทศไทย  ดาวเทียมนี้สามารถถ่ายทอดสัญญานวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์ อินเตอร์เนทและการสื่อสารข้อมูลอีกสารพัด   ซึ่งตอนนี้ก็ตกเป็นของสิงคโปร์ไปแล้ว
              ในปลายปี 2538  คราวที่ไปเดินช็อปปิ้งที่ศูนย์การค้ามาบุญครอง  ก็มีอยู่ครั้งหนึ่งที่รู้สึกหิวจึงไปหาอะไรกินที่ร้านแมคโดนอลที่ชั้นล่าง  ช่วงที่ไปต่อแถวรอซื้อเบอเก้อร์ก็สังเกตุเห็นชายกลางคนร่างท้วมผิวขาวหน้าตาคุ้นๆยืนอยู่ข้างหน้าคนเดียวกำลังสั่งของ 3-4 อย่าง แว๊ปแรกก็นึกถึงคนใจถึงที่เป็นเจ้าของบริษัทดาวเทียมฯขึ้นมาทันทีว่า อ๋อ ทักษิน นี่หว่า  แต่พอเหลียวไปดูรอบๆตัวก็ไม่เห็นจะมีผู้ติดตามห้อมล้อม(เหมือนทุกวันนี้) และบรรดาลูกค้าที่นั่งเต็มอยู่ในร้านก็ไม่ได้กะดี้กะด้ามีทีท่าว่าจะรู้จักหรือให้ความสนใจกับผู้ชายคนนี้แต่อย่างใด  แสดงว่าการเข้ามาเล่นการเมืองในครั้งนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก  และตามที่คนทั่วไปรับรู้ความร่ำรวยของ ทักษิน ในช่วงเวลานั้นก็แค่เป็นเศรษฐีธรรมดา ไม่ใช่ระดับมหาเศรษฐี เหมือนในระยะหลังเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) ในปี 2542 ไปแล้ว  และยิ่งมารู้เอาว่าทักษินแกโคตรจะรวย ก็อีตอนที่มีข่าวฝากหุ้นกับคนขับรถสองพันล้านแม่บ้านเจ็ดร้อยล้านในสมัยที่เขาเป็นนายกฯ สมัยแรกนั่นแหละ
             นี่เป็นความทรงจำเก่าๆเล็กๆน้อยๆเท่าที่จำได้มาเล่าสู่ฟัง  ไม่ได้ตั้งใจจะมาโหมโรงกับคดีการจะยึดทรัพย์ 76,000 พันล้านหรือไม่  เพราะงานนั้นเป็นปัญหาของฝ่ายทนายของทักษินที่จะต้องทำให้ศาลฯเชื่อให้ได้ว่า ทักษินแกรวย (มหาศาล )มาก่อน จริงๆ ไม่ใช่เพิ่งจะมารวย เอาอีตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เท่านั้นเอง โชคดี นะ


อยากไปเร็ว ก็ให้รีบไป    อยากไปไกล ให้รอไปด้วยกัน
จับตา  สามยาม



จับตา  สามยาม