เมื่อหลายวันก่อน เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้ๆพาฝรั่งสูงวัยชาวอเมริกันคนนึงมาหา ขอให้ ช่างเขียน ช่วยพาเขาไปรู้จักเมืองนครฯของเราซักหน่อย
ตอนนั้นก็เย็นมากแล้ว ก็เลยถามเขาว่า " คุณเป็นใคร มาจากไหน และอยากรู้เรื่องอะไรบ้างล่ะ " เขาก็บอกว่า เขาชื่อ ทอม มาจากแอลเอเป็นนักเขียนเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกิน ก็อยากรู้ว่าคนเมืองนี้ เขากินกันยังไง ชอบอาหารแบบไหน ก็นึกรู้ขึ้นมาทันทีว่า เขาคงอยากไปดูมากกว่าไปกิน ก็บอกว่าได้เลย งั้นจะพาไปดูที่ถนนคนเดินตรงปลายถนนเฟื่องนคร หรือ ตลาดโต้รุ่ง ตามที่ชาวบ้านเรียกขานกัน
ซึ่งจริงๆแล้ว ที่ตรงนี้ก็ไม่ได้ซื้้อขายกันจน โต้รุ่ง โต้แจ้ง อะไรหรอก เพราะแค่ 2-3 ทุ่ม คนซื้อก็วาย คนขายก็รีบเก็บของกลับบ้านหมดแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้จะทุรังเรียก โต้รุ่ง ไปทำไม ถ้าจะเรียกว่า " ตลาดค่ำ " หรือ " ตลาดแลง " ก็ดูเหมาะสมดี หรือถ้ากลัวว่าจะไปซ้ำกับที่อื่น ก็อาจจะตั้งว่า " ตลาดรีบขาย รีบเก็บ " ให้มันแปลกหูซะงั้น ก็ไม่เลวนะ
ไปถึงถนนคนเดิน ตอนราวห้าโมงกว่าๆ แม่ค้าพ่อขายบางเจ้าก็กำลังตั้งแผงขายของอยู่ คนยังไม่เยอะ จึงสะดวกแก่การเดินชม
บรรยากาศของการจับจ่ายก็มีพอสมควร เหลียวไปซ้าย ก็เห็นแต่แผงลอยขายอาหารสำเร็จรูปสลับกับอาหารตามสั่งสาระพัดอย่าง เหลียวไปขวา ก็เจอแผงขายอาหารเรียงรายสลับกับขนมผลไม้
เป็นไกด์พา ทอม เดินชมความหลากหลายบนสองฟากฝั่งถนน ซ้ายทีขวาทีไปได้ซักหน่อย ก็เจอ ขอทานชายคนหนึ่งหมอบราบบนพื้นถนนอยู่ข้างหน้า
แรกที่เห็นชายขอทานคนนี้ ปากที่กำลังเพลินกับการอธิบายความอุดมสมบูรณ์ของประเทศที่กำลังจะเป็น ครัวของโลก ก็อ้าค้างอยู่วินาที อ้าว คนโหยหิวยังมีอยู่
สะดุดไปนิด ก็เดินต่อไปอีกหน่อย ก็เจอ ขอทานหญิงสูงวัยคนหนึ่งนั่งพับเพียบพนมมือแต้ร้อง หมอลำ เสียงใสอยู่กลางถนน แต่พอจะก้าวผ่านไป เสียงลำกลอนที่ลื่นไหลเหมือนออกมาจากหัวใจของเธอ ก็ทำให้เราคิดได้ เอ๊ ยายป้าคนนี้แกเป็น วณิพก นี่หว่า เพราะร้องเพลงให้ฟังและไม่ได้ขอทานมือเปล่า ก็เลยกลับมาหยอดเงินให้เธอก่อนจะเดินต่อไป
ว่าแต่ แม่ใหญ่หมอลำ คนนี้แกมาประจำที่นี่แต่เมื่อไหร่กันล่ะ เพราะไอ้เราก็มาอยู่บ่อยๆแต่ทำไมไม่เคยเจอเลย แต่เผอิญวันนั้นยังมีภารกิจกับฝรั่งอยู่ ก็เลยตั้งใจว่าพรุ่งนี้จะมาขอพูดคุยกับเธอดูเผื่อจะช่วยอะไรได้บ้าง แต่แล้ววันรุ่งขึ้นเมื่อมาที่โต้รุ่งก็ไม่พบ จึงไปถามแม่ค้าที่ขายของแถวนั้น ก็ได้คำตอบว่า การมาของเธอเอาแน่ไม่ได้ ก็เลยต้องมาคอยดักทุกวัน แต่กระทั่งวันนี้ ก็ยังไม่ได้พบเห็นเธออีกเลย
หากมีใครรู้จักหรือมีข้อมูลของเธอ กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย ว่าเธออยู่ที่ไหน เป็น พลบ้าน พลตำบล ใด ก็จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ครับ
ฝรั่งทอม ที่เดินมาด้วยกันคงสังเกตุสีหน้าของเราออก ก็เลยกระซิบบอกว่า " ไม่ต้องอายผมหรอก คนที่ออกมาขอเงิน ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพื่อความอยู่รอดแบบนี้ ประเทศของผมก็มี ส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีบ้าน หรือไม่ก็ตกงาน และก็มีไม่น้อยที่มาขอเงินเพราะติดเหล้ายาเสพติดงอมแงม

ขอทานฝรั่ง ที่ส่วนใหญ่จะติดเหล้าและเป็นคนไร้บ้าน

สังเกตุภาชนะรับเงินจะเป็นถ้วยกระดาษใบโต รายนี้เอาหมาคู่ใจมาช่วยขอทานด้วย

คนไร้บ้าน ก็อาศัยริมถนนเป็นที่พักพิง และขอรับบริจาคจากผู้คนที่เดินผ่าน

คนตกงาน ชูถ้วยกระดาษ แสดงสัญญลักษณ์การขอความช่วยเหลือ

คนพิการตาบอดแบบนี้ คงจะพึ่งพิงอาศัยถนนไปอีกนาน

เอกลักษณ์ของการขอเงินคือ ป้ายกระดาษ " ผมหิว ช่วยด้วย "

ชายคนนี้ ถือป้ายแสดงความรันทดของชีวิต ที่อยากเห็นใจ แต่ไม่น่าเห็นใจ
คุณจะพบการขอเงินในลักษณะต่างๆ เช่น ออกมายืนบนทางเท้า มือหนึ่งถือป้ายที่เขียนปัญหาของเขา และอีกมือก็ถือถ้วยกระดาษให้คนหยอดเงิน และแบบศิลปินเปิดหมวก ที่ดูดีหน่อย คือ ถ้าใครมีฝีมือร้องเพลงเป็นเล่นดนตรีได้ก็จะออกมาโชว์เสียงดีดสีตีเป่าตามถนัดบนย่านที่มีคนมากๆ โดยมีภาชนะมารับเงินด้วย บางคนเป็นมือสมัครเล่น บางคนก็ทำเป็นอาชีพเลย และมันก็ไม่ได้น่าอายตรงไหน เพราะศิลปะการขับร้องการเล่นดนตรีเป็นเครื่องหมายแห่งวัฒนธรรมที่งอกงาม "
วณิพกยิบซี ต้นฉบับของ วณิพกพเนจร ที่มีเสียงร้องกับเสียงดนตรีแลกกับเงิน
วณิพกพเนจรฝรั่ง แบบศิลปินเดี่ยวนี้มีเห็นได้ทั่วไปบนถนนที่มีคนพลุกพล่าน
ฝากระเป๋าที่เปิด ก็เพื่อให้คนหย่อนเงินให้
วณิพกแบบบิ๊กแบน บางคนมีวิญญานศิลปินสูงไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร
ก็ชักชวนเพื่อนฝูงที่ใจรักเหมือนกัน ออกมาเล่นดนตรีอยู่ริมถนน
บางคนมีงานประจำทำ แต่ชวนกันมาหารายได้เสริม
เมื่อฟังฝรั่งเขาพูดถึงบ้านเมืองเขายังงี้ ก็เลยทำให้นึกถึง การออกมาขอทาน ในเมืองนครพนมเมื่อหลายสิบปีก่อน จำได้ว่า ในช่วงหน้าแล้งของทุกๆปี ประมาณกลางๆหน้าหนาวไปจนถึงหน้าร้อน

จนเกือบจะชินตากับภาพการขอทาน ส่วนมากก็จะเป็นชาวบ้านจากชนบทรอบนอก มีทั้งเด็กผู้ใหญ่ทั้งร่างกายปรกติและพิการ ที่เป็นแม่กระเตงลูกอ่อนก็มี ที่เป็นเด็กเดินจูงคนแก่หรือคนพิการก็มี พากันออกมาขอทานเงินตามบ้านร้านรวงในเมือง บ้างก็ขอยาแก้ไข้ บ้างก็ขอของใช้แล้วเช่น ผ้าห่มหรือพวกเสื้อผ้าเก่าๆ

บางรายที่แก่ชราหรือพิการมากก็มานั่งไหว้ขอเงิน ส่วนที่พิการแต่ยังพอมีแรง ก็มาแลกด้วยเสียงเพลงลำกลอน (หมอลำ ) ที่ลำเรื่องถึงชีวิตที่ลำเค็ญ เคล้าไปกับเสียงแคน เสียงซอหรือพิณ ที่ทำจากกระลาบ้าง กระป๋องบ้าง และถึงแม้เพลงหมอลำกลอนนั้นเราจะไม่คุ้นไม่ค่อยเข้าใจ แต่ภาพและเสียงนั้นก็ยังจำติดหูติดตา
ยังจำความงี่เหง้าหนึ่งของเราได้ในหว่างนั้น ช่างเขียน เคยถามผู้ใหญ่ด้วยความไม่ประสาว่า " ทำไมเราต้องให้เงินเขาด้วย พวกนี้ไม่มีงานการทำหรือไงจึงต้องออกมาขอทาน "
ซึ่งผู้ใหญ่ก็ตอบว่า คนไทยบ้านนอก ( สรรพนามที่คนในเมืองนิยมเรียกคนชนบทในสมัยนั้น อารมณ์ก็คล้ายกับที่คนไทยเรียกคนชาติผิวขาวว่า ฝรั่ง ) พวกนี้ถึงไม่มีอะไรเท่าเรา เขาก็อยู่ของเขาได้ แต่เขาไม่ได้ยากจน เพียงแต่ทำมาหากินลำบาก เพราะหน้าแล้งกันดารน้ำมากจะปลูกผักพืชอะไรก็ไม่ได้ และเขาก็ทำแค่ช่วงที่เดือดร้อนไม่ได้จะยึดเป็นอาชีพ
แล้วท่านก็พูดถึงความเป็นชาวพุทธ ที่ถูกสอนให้ทำความดีกับคน มีเมตตาจิตต่อผู้ทุกข์ยาก ก็เปรียบได้ว่า การออกมาขอทานของเขา ก็เหมือนจะมาแผ่บุญให้เราได้มีโอกาศทำ
นอกจากนี้ ท่านยังให้ความรู้อีกว่า วณิพก นั้นไม่ใช่ ขอทาน เพราะเขาไม่ได้มาแบมือขอ แต่เขาขอด้วยเสียงเพลงเสียงดนตรีที่เป็นศิลปะเฉพาะตัวที่ใช่ว่าใครๆก็ทำได้ ดังนั้นเราควรมีน้ำใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พบคนปรกติ แต่อยู่ดีๆก็มาแบมือขอเงิน แบบนี้ก็ไม่น่าให้
" โลกมนุษย์อันใหญ่โตมโหฬารใบนี้ ไม่น่าเชื่อว่า
จะมีคนอยู่เพียงแค่ 2 คน คือ คนมี และ คนไม่มี เท่านั้นเองครับ "
สวัสดี
อยากไปเร็ว ก็ให้รีบไป อยากไปไกล ให้รอไปด้วยกัน
จับตา สามยาม