ขอให้ชาวนครพนม คัดค้านการนำเอาพระธาตุพนม ไปประดับบนยอดหลังคาอาคารด่านศุลกากรนครพนม ที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม

27 ม.ค. 2554

เมื่อไม่มีสิ่งที่ชอบ ก็ต้อง (ฝืน) ชอบในสิ่งที่มี ยังงั้นรึ




          ความต่อจากตอนที่แล้ว   หลังเสร็จภาระกิจในวันเสาว์ไปเมื่อวาน ในวันอาทิตย์นี้ก็ตั้งใจว่าจะไปเดินสวนจตุจักรซักวันก่อนกลับนครพนม  จึงโทร.ไปทักทายเพื่อนๆในกทม.เท่าที่จะนึกออก พร้อมกับแจ้งข่าวว่า ตอนนี้อยู่กรุงเทพนะโว๊ย  แต่ขณะที่กำลังจะออกไปจากโรงแรม  ก็ได้รับเสียงกริ๊งจาก ไอ้โพธิ์ เพื่อนเก่าสมัยมอปลายที่ไม่ได้เจอกันนานมาก 
โพธิ์  "  เฮ๊ย ใหญ่ กูเพิ่งรู้จากไอ้น้อยมันว่าตอนนี้มึงอยู่กรุงเทพ  เฮ้ย เราไม่ได้เจอกันซะนาน ยังไงๆวันนี้มึงต้องมากินข้าวกับกูให้ได้นะอยากคุยด้วย  เพราะวันนี้กำลังฉลองย้ายเข้าบ้านใหม่พอดี  ตอนนี้มึงอยู่ที่ไหนล่ะ อ๋อ อยู่ที่โรงแรมแถวรัชดาฯเหรอ เออ ไม่ไกล งั้นเดี๋ยวกูจะให้ลูกสาวไปรับ  โอ.เค นะโว๊ย "


         โพธิ์ หรือ ชื่อจริงว่า ประสิทธิ์ เพิ่งเกษียณงานบัญชีที่ทำกับบริษัทเอกชนญี่ปุ่นระดับบิ๊ก ส่วน เง็ก ภรรยาคู่ใจก็เปิดร้านจัดดอกไม้เล็กๆที่สวนจตุจักร ทั้งคู่มีลูกสาว 2 คนเป็นฝาแฝด ต๊อก - แต๊ก ซึ่งเรียนจบโททั้งคู่ ต๊อกทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นเหมือนพ่อ ส่วนแต๊กสอนหนังสือที่ราชภัฏฯ   โพธิ์ และ เง็ก เคยหลงผิดไปซื้อบ้านใกล้สนามบินสุวรรณภูมิก่อนจะขายทิ้งแล้วมาซื้อบ้านใหม่ที่รามอินทราในวันนี้






         โพธิ์ มีประวัติการต่อสู้ชีวิตที่น่าสนใจ  ตอนเล็กๆทางบ้านที่สุพรรณบุรีก็มีฐานะไม่ค่อยดีนัก เมื่อจบชั้นประถมที่สุพรรณฯจึงขอตามญาติที่บวชเป็นพระอยู่ที่วัดโพธิ์ท่าเตียนเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพ แล้วทำงานทุกอย่างที่ได้เงินส่งเสียตัวเองจนกระทั่งจบบัญชีธรรมศาสตร์  ดังนั้นชื่อ " โพธิ์ " ที่เพื่อนๆในโรงเรียนเรียก จึงได้มาเพราะอยู่ที่วัดโพธิ์นี่เอง



         โพธิ์ ในวัยเรียนเป็นคนหน้าตาคมคายแบบไทยๆ  แต่จะด้วยความเจียมฐานะหรือไรจึงทำให้โพธิ์ดูเงียบไม่ค่อยสดใสสมวัย  บ่อยครั้งก็เหม่อลอยไม่พูดจา บางครั้งก็เฮฮาไปตามเพื่อน  เหตุที่ ช่างเขียน คุ้นเคยกับโพธิ์มากกว่าเพื่อนคนอื่น   ก็เพราะเราเป็นเด็กต่างจังหวัดเหมือนกันจึงชอบนั่งติดกันอยู่หลังห้องเรียนแต่โพธิ์ชอบนั่งโต๊ะมุม  นับแต่เปิดเทอมแรกมาครึ่งปีเราต่างก็ไม่เคยสนใจอะไรกัน แต่ที่ต้องได้รู้จัก โพธิ์ มากขึ้น ก็ในเช้าวันนึงเมื่อ นุ้ย เด็กตราดฉายา " ไอ้นุ้ยจอมแฉ "  มากระซิบให้ฟังว่า " มึงนั่งอยู่ข้างหน้ามัน  ไม่เคยสังเกตุหรือว่า  ไอ้โพธิ์มันชอบโชว์อะไร ลองเหลียวไปดูซักกะหน่อยสิ   "  ด้วยความอยากรู้ว่ามันชอบทำอะไร ก็เลยแอบชำเลืองดูมันตลอดเวลา  แต่ละชั่วโมงเรียนผ่านไปก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น  จนกระทั่งถึงชั่วโมงเรียนภาษาอังกฤษ ซึ่งสอนโดยอาจารย์สาวสวยที่เพิ่งจบใหม่ๆ  ทันใดที่ได้ยินเสียงกุกๆกักๆอยู่ข้างหลังก็หันควับไปดู ก็เลยจ๊ะอุ๋ย  กับฉากไอ้โพธิ์กำลังทำร้ายตัวเอง  โอ้โฮ บะเหิ้มแบบนี้มันก็น่าโชว์อยู่หรอก  ตอนหลังเมื่อสนิทกันมากขึ้น โพธิ์ ก็สารภาพให้ฟังว่ามันเป็นคนรู้สึกไวและเก็บอารมณ์ทางเพศไม่อยู่


  
          ยังจำวันที่ โพธิ์ ชวน ช่างเขียน มากินชาต้มขนมปังสังขยา ที่ท่าเตียนครั้งแรกในชีวิตได้  วันนั้น โพธิ์ บอกว่าวันนี้เป็นวันที่ต้องบันทึกในประวัติศาสตร์ เพราะรถรางจะวิ่งเป็นวันสุดท้ายในกรุงเทพ เราก็อยากมีส่วนร่วมด้วยจึงชวนกันโดดเรียนครึ่งวันเพื่อมานั่งรถรางเที่ยวสุดท้ายนี้ด้วย แล้วก็โดดขึ้นรถเมล์จากพญาไทไปลงที่เจริญกรุง  แล้วขึ้นรถรางขบวนประวัติศาสตร์ไปลงที่ท่าเตียน







         เมื่อมาถึงตลาดท่าเตียน โพธิ์ ก็พาไปนั่งที่ร้านชาต้มที่ขึ้นชื่อที่สุดในตลาดฯ  ครั้งแรกที่ลองจิบชาต้มก็รู้สึกคล้ายๆชาเย็นทั่วไปแต่รสชาติหอมหวานและอร่อยกว่ามากราคาสมัยนั้นแก้วละบาท  ทุกวันนี้ไม่รู้ว่าร้านนี้ยังเปิดขายอยู่รึเปล่า  และก็เรื่อง ชาต้ม นี้แหละที่ โพธิ์ เล่าให้ฟังว่า เป็นตำนานรักแรกรักแท้และสุดท้ายของมัน




  
       เรื่องก็มีอยู่ว่า ในเช้าวันหนึ่ง โพธิ์ ไปรอแจกันดอกไม้ที่ทางวัดสั่งให้ร้านเจ้าประจำจัดให้  แต่วันนั้นมีเหตุให้ต้องรอนานกว่าทุกครั้งเพราะรถส่งดอกไม้ยังไม่เข้าตลาด จนโพธิ์แสดงอาการหงุดหงิดออกมา  ในตอนนั้น เง็ก สาวสวยหมวยเปรี้ยวลูกสาวร้านดอกไม้ก็คงจะรำคาญตากับท่าทางงุ่นง่านของโพธิ์ไม่ได้  จึงหลุดปากออกมาว่า " อีก 10 นาทีถ้ารถส่งดอกไม้ยังไม่มา ชั้นยอมให้ปรับ "  และวันนั้นกว่ารถจะเข้าตลาดก็สายมาก  ซึ่ง เง็ก ก็ใจดีสู้เสือเธอถามโพธิ์ ว่า " แล้วเธอจะเอาค่าปรับชั้นเท่าไร "   โพธิ์ หนุ่มน้อยตจว.ที่เพิ่งจะมาอยู่กรุงก็บอกว่า  " กำลังหิวน้ำพอดี เลี้ยงชาต้มแก้วนึงสิ "  จากชาต้มแก้วแรกในชีวิตวันนั้น ก็สานสัมพันธุ์รักหมวยสาวกับหนุ่มไทยให้ยืนยาวจนกลายมาเป็นคู่ชีวิตจริงในวันนี้


       คุยกับ โพธิ์ เสร็จ ก็ออกมานั่งรอรถที่หน้าโรงแรม  สักพักใหญ่ก็มีรถเก๋งสีขาวใหม่เอี่ยมขับเข้ามาจอดที่หน้าโรงแรมโดยไม่ได้ดับเครื่อง แล้วก็เห็นหนุ่มสาวคู่นึงลงจากรถแล้วเดินตรงเข้ามาไหว้
ต๊อก  - สวัสดีค่า คุณลุงใหญ่ ใช่มั๊ยคะ หนูชื่อ ต๊อก ลูกพ่อประสิทธิ์ค่า นี่ ทาโน่ แฟนหนูนะคะ เค้าเป็นคนญี่ปุ่นทำงานเป็นวิศวกรที่โรงงานเดียวกันกับที่หนูทำอยู่  เค้าพูดไทยได้คะ  เชิญคุณลุงขึ้นรถเลยนะคะ  พ่อเขากำลังรอทานข้าวกับคุณลุงอยู่ 
ช่างเขียน  -  หวัดดีลูก เอ้างั้นไปเลยออกรถได้ อะไรนี่เรา เผลอแพ่บเดียวจบโทแล้ว คิดว่าลุงเคยเห็นหนูครั้งสุดท้ายก็ตอนเรียนประถมล่ะมั้ง นี่เราแฝดพี่ รึ น้อง
ต็อก  - หนูแฝดพี่ค่ะ แต๊ก เป็นน้อง
ช่างเขียน  - แล้วคุณทาโน่ มาทำงานที่เมืองไทยได้ยังไงครับ
ทาโน่  - ผมเรียนจบเมื่อ 6 ปีก่อน  แล้วเริ่มทำงานกับบริษัทใหญ่ที่ญี่ปุ่นก่อนครับ ทำได้ 2 ปีบริษัทก็ส่งมาทำงานต่อที่เมืองไทยเพราะผมสนใจและมีความรู้เรื่องเมืองไทยดี



  
ช่างเขียน  - ชอบและประทับใจเมืองไทย เรื่องใดบ้างครับ
ทาโน่  - ผมเคยมาเมืองไทยตอนเล็กๆกับพ่อแม่ครับ คิดว่าเมืองไทยสวยงามและมีความหลากหลายมาก ผมชอบความเป็นมิตรของคนไทย อาหารไทย และผู้หญิงไทยครับ
ช่างเขียน  - แล้วคุณทาโน่ เขามารู้จักชอบพอกับแต๊กได้ยังไงล่ะ แล้วมีแผนจะแต่งงานกันมั๊ย
ต๊อก  - หนูทำงานอยู่ฝ่ายจัดการก็เลยเจอทาโน่ ที่โรงอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่บ่อยๆ จนวันนึงเค้าขอให้หนูช่วยสอนภาษาไทยให้  จากนั้นเราก็คบกันมาเรื่อยๆ การแต่งก็คงรออีกซักพักคะ
ทาโน่  - ผมก็อยากแต่งเร็วๆ แต่ต๊อกเขาว่ายังไม่พร้อมครับ



ช่างเขียน  - ที่โรงงานของคุณพอใจการทำงานของช่างคนไทยแค่ไหน หรือ เคยมีปัญหาการทำงานของพนักงานคนไทยอย่างไรบ้างครับ
ทาโน่  - ผมเคยฟังเพื่อนๆและผู้ใหญ่ในบริษัทเล่าให้ฟังว่า  ฝีมือช่างเทคนิคคนไทยที่ผ่านการฝึกอบรมของบริษัทแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนคนไทยมีทักษะดีกว่ามากครับ  ความตั้งใจในการทำงานก็ดี แต่มีปัญหาเดียวคือ เรายังขาดแรงงานระดับนี้อยู่มาก  เราต้องเสียเวลาฝึกอบรมคนงานใหม่หลายเดือนก่อนจะทำงานได้ซึ่งมันสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก  ผมเคยอ่านบันทึกเก่าๆของบริษัทที่มีไปถึงรัฐบาลไทยให้ช่วยปรับปรุงหลักสูตรการเรียนอาชีวะศึกษาให้สอดคล้องกับระบบอุตสาหกรรมของเราด้วย แต่ในวันนี้ผมก็ยังไม่ทราบเลยว่า เรื่องนี้ได้รับการตอบสนองหรือไม่
ต๊อก  - หนูเคยดูผลการสมัครงานและการคัดคนรับเข้าทำงานของบริษัทเราในแต่ละปีแล้ว  ก็น่าตกใจนะคะ  คือ บางปีสมัคร 100 คน ผ่านแค่ 4 คน  คล้ายกับว่า คุณภาพอาชีวะของเรายังใช้ไม่ได้เลย


ช่างเขียน  - ก็น่าจะรวมถึง คุณภาพสมองของนักการเมืองไทยด้วยนะ  เพราะการพัฒนาบ้านเมืองในทุกๆเรื่องต้องมีนักการเมืองเกี่ยวข้องด้วย  ถ้าเรื่องใดเขาเล่นด้วยเรื่องก็ผ่าน แต่ถ้าเขาไม่ชอบก็จบ ลุงรู้สึกว่า  พวกนักการเมืองเขาไม่ค่อยสนใจการเรียนอาชีวะเท่าไหร่  แต่ชอบมาหาคะแนนเอาใจชาวบ้านด้วยการมุ่งเปิดมหาลัยให้ครบทุกจังหวัดโดยไม่เน้นคุณภาพนี่มันผิดมากๆ  เพราะความสำคัญของการเปิดมหาลัยมันอยู่ที่คนสอนต้องมีปริญญาเอกมากๆ มีสาขาวิชาทั้งวิทย์และศิลป์ให้เลือกครบถ้วน  ไม่ใช่เรื่องการมีตึกสวยงามใหญ่โต นี่อะไร สาขาวิชาที่เปิดสอนส่วนใหญ่ก็เป็นแนวศิลปศาสตร์ที่เรียนง่ายจบง่ายจนเฟ้อล้นตลาด เหมือนดูถูกคนต่างจังหวัดว่าโง่  ลุงกล้าพูดได้ว่า "  คนที่เรียนวันนี้ก็เตรียมตัวตกงานในวันหน้าได้เลย "  พักหลังๆนี้ พวกนักวิชาการทั้งของรัฐและเอกชนเขาก็ออกมาโวยอยู่เสมอๆว่า  ทำไมรัฐผลิตแต่บัณฑิตขยะ มันไม่ได้ตรงกับความต้องการของเอกชนเขาเลยจ้างไปก็ไม่คุ้มเงิน  นอกจากจะไปแย่งกันสมัครทำงานกับราชการ เรื่องนี้คุณทาโน่เข้าใจใหมครับ


ทาโน่  - เข้าใจครับ เรื่องนี้ก็คล้ายกับที่อินเดียเมื่อ 20 ปีก่อน  ที่รัฐมุ่งแต่จะให้ประชาชนได้ปริญญากันถ้วนหน้า แต่ความจริงจบปริญญาตรีแล้วต้องมาเดินขายถั่ว  รู้สึกว่าในเวลานั้น อินเดียมีบัณฑิตตกงานเป็นล้าน  ในเมื่อเขามีบทเรียนจากนโยบายที่ผิดพลาดนี้แล้ว  เขาก็กลับตัวทัน เปลี่ยนแนวทางหันมามุ่งการผลิตคนให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการแรงงานในตลาด  จะเห็นว่าคนจบสาขาคอมพิวเตอร์ของอินเดียนี่ เป็นที่ต้องการของทั่วโลกแม้กระทั่งญี่ปุ่นเอง  เรียกได้ว่าผลิตเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ ต้องจองตัวกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบเลย  เรื่องนี้ทำให้อินเดียมีศักยภาพในการพัฒนาประเทศอีกหลายเท่าตัว  และมีขนาดของเศรษฐกิจผงาดในระดับโลก 
ต๊อก  - เอ้า ถึงบ้านใหม่แล้วคะ  นั่นไงพ่อแม่กับแต๊กเขามายืนรอคุณลุงอยู่ที่หน้าบ้าน งานวันนี้ไม่มีพิธีอะไรนะคะ เพียงแค่นิมนต์พระมาเจิมพรมน้ำมนต์แต่เช้าก็จบแลัว ตอนนี้ก็เหลือแต่พวกเราไม่กี่คนกินกันเอง ไม่มีแขกคะ


             เมื่อรถจอดสนิทก็ลงไปจับมือทักทายกับ โพธิ์ และรับไหว้ เง๊ก กับ แต๊ก แล้วพากันเข้าไปในบ้าน  ซึ่งตั้งโต๊ะอาหารใหญ่โต๊ะเดียวมีหนุ่มสาวเพื่อนของแต๊กนั่งรออยู่ 4 - 5 คน
โพธิ์  - เอ้านั่ง วันนี้นอกจากมึงแล้วก็ไม่มีแขกอื่นนะ  นี่มีแต่เพื่อนๆของ แต๊ก ที่มหาลัย
แต๊ก  - พวกเราสวัสดีคุณลุงใหญ่ เพื่อนพ่อชั้น
ช่างเขียน  - เอ้า  สวัสดีครับหลานๆ  โอ้โฮ บ้านสวยน่าอยู่นะโพธิ์ นี่อาหารก็เพียบเลย เง็ก ทำเองทั้งหมดรึเปล่านี่
เง็ก  - เปล่าคะ ทำเองเฉพาะพวกยำพวกแกงพวกผ้ดค่ะพี่ ส่วนพวกเป็ดย่าง ไก่อบ กระเพาะปลานี่ซื้อจากข้างนอก  พี่ใหญ่ คงสบายดีนะคะ หน้าตาไม่เปลี่ยนเลย
ช่างเขียน  - ไอ้โพธิ์ ก็ไม่เปลี่ยน นอกจากผมหงอกมากขึ้น
เง็ก  - พี่ใหญ่ จะรับเครื่องดื่มอะไรดีคะ วิสกี้เหมือนพี่สิทธิ์ หรือ เบียร์     
ช่างเขียน  - เอาเบียร์ดีกว่า  แต่ไม่ต้องใส่น้ำแข็งนะ 
โพธิ์  - เง็ก งั้นพี่ก็เอาเบียร์เหมือนใหญ่เขา  จะได้กินเป็นเพื่อนกัน เกือบ 15 ปีได้มั๊งที่ไม่ได้เจอกันเพราะเราก็ยุ่งกับงานการจนลืมเพื่อนฝูงไป 
ช่างเขียน  - ก็ประมาณนั้นล่ะนะ  เออ ที่ย้ายมาอยู่นี่เพราะทนเสียงเครื่องบินไม่ได้ใช่มั๊ย


เง็ก  - เสียงเครื่องบินก็ส่วนหนึ่งคะ แต่ที่ทนไม่ไหวก็คือ เสียงบ้านมันสั่น ทั้งโต๊ะตู้ประตูหน้าต่างกรอบรูปของใช้สั่นหมด ต้องเปลี่ยนกระจกแตก กระเบื้องแตกอยู่บ่อยๆ
โพธิ์  - ฉันบอกเธอแต่แรกแล้วว่าอย่ามาอยู่ใกล้สนามบินเลย เธอก็ไม่ฟังฉัน คิดแต่ว่าเป็นการลงทุนบนแผ่นดินทอง  เป็นที่ดินที่มีอนาคต ราคาจะปรับสูงขึ้นทุกปีๆ ทีนี้แล้วไง  เรื่องนี้พูดไปแล้ว  ก็ไม่ค่อยเห็นใจพวกที่ไปซื้อบ้านอยู่ใกล้สุวรรณภูมิสักเท่าไหร่  คิดดูว่ามันจะนอนตาหลับได้ยังไงเมื่อมีเครื่องบินข้ามหัววันละ 2 - 300 ครั้งนี่ฮึ อยากจะสมน้ำหน้าซะด้วยซ้ำไป
เง็ก  - ชั้นก็เห็นคนที่ดอนเมืองเขายังอยู่กันได้  ก็เลยคิดว่าเราก็น่าจะอยู่ได้
โพธิ์  - โถ คนดอนเมืองเขาอยู่มานานจนชินแล้ว เราจะไปเอาอย่างเขาได้ไง  นี่ยังโชคดีนะ ที่หลวงเขาช่วยรับซื้อบ้านคืนให้  ไม่งั้นไม่ได้มาอยู่ตรงนี้หรอก


    
ช่างเขียน  - แล้วพวกที่ออกมาโวยว่า ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลนี่  มันเป็นยังไง
โพธิ์  - เขาอาจจะมาทีหลังก็ได้ ไม่รู้นะ  แต่เรื่องของเราที่มันจบก่อนเขา  อาจจะเป็นเพราะมีหลักฐานว่าเราซื้อที่ดินและมาสร้างบ้านอยู่ก่อนที่จะสร้างสนามบินตั้งหลายปี  นี่แหละน้า  ความรักเมียมากตามใจทุกอย่างจนเขาได้ใจเป็นใหญ่คนเดียวในบ้าน ตัดสินใจคนเดียวไม่ฟังเสียงใครเลย
ช่างเขียน  - มึงอยากจะว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย ยังงั้นใช่มั๊ย 
โพธิ์  - เออว่ะ  มาตาธิปไตย  มีคาถาบูชาเมีย  แทนรัฐธรรมนูญ
เง็ก  - เอาล่ะ จบๆๆ ชั้นตัดสินใจผิด ก็ยอมรับผิดแต่ผู้เดียว  และต่อไปจะทำอะไร ชั้นต้องปรึกษาคนในบ้านก่อนทุกครั้ง ยังงี้ถูกใจมั๊ยผัวจ๋า
ช่างเขียน  - เออ ไอ้ผัวเมียคู่นี้มันน่ารักดีเว๊ย  ถ้าบ้านเมืองของเรามีบรรยากาศแบบนี้มั่งก็จะดีไม่น้อย
โพธิ์  - เออ ใหญ่  มึงว่า สีเหลือง สีแดง นี่ สีไหนมันอันตรายน่ากลัวกว่ากัน ว๊ะ



ช่างเขียน  - กูว่า  สีม่อฮ่อม ว่ะ จุดธูปปั๊บ ก็ยกทัพหอบเสื่อหอบหมอนมาวันนั้นเลย  ไอ้พวกที่ชอบเล่นแรงๆนี่ มันก็งั้นๆ พอเดาใจเดาสันดานได้ว่าอะไรกำลังจะเกิด  แต่ไอ้พวกมาเงียบๆหน้าตายๆไม่แสดงสีหน้าอารมณ์นี่สิเดาใจไม่ถูก   มันน่ากลัวกว่ากันเยอะ
แต๊ก  - เหมือนกองทัพปีศาจที่ผลุดลอยขึ้นมาจากพิภพ อย่างกับหนัง " เดอะ ตัม เรดเด้อร์ " ของแองเจลิน่า โจลี่ เลยคะคุณลุง
ช่างเขียน  - แหมเข้าใจเปรียบเทียบ  เออ ลุงมาตั้งนานยังไม่ได้ทักทายพวกหลานๆเลย  มัวแต่คุยกับคนแก่เพลินไปหน่อย  ลืมถาม แต๊ก ว่าหนูสอนหนังสือที่ไหนลูก
แต๊ก  - หนูสอนที่ราชภัฏ....... คะ
ช่างเขียน  - หนูเคยทราบข่าวเรื่องการ " ฮุบรวม " ม.ราชภัฏฯ ที่นครพนมมั๊ย



แต๊ก  - โอ๊ย วงการพวกราชภัฏฯ เขารู้เรื่องนี้ดีทุกอย่างคะ  เขาก็ติดตามและวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่บ่อยๆ  ที่ยังค้างคาใจพวกเขาก็มีอยู่ 3 เรื่องมั้ง คือ กฏหมายเท่ากัน แล้วพรบ.ม.ราชภัฏนครพนมหายไปได้อย่างไร  เรื่องการออกพรบ.ม.นครพนมโดยนักการเมืองในพรรคของทักษิน แต่ทำไมถึงกล้าขัดมติของครม.รัฐบาลทักษินไปทุกข้อ แล้วสุดท้ายก็เรื่องชื่อของมหาลัย   
ช่างเขียน  - คล้ายๆว่า " อะไรที่เดินบนความไม่ถูกต้อง  ก็มักจะไปได้ไม่กี่น้ำ " ใช่มั๊ย  เออ เก่งจริงนะพวกเรา  นึกว่าจะไม่มีใครสนใจพูดถึงเรื่องนี้อีกแล้ว เออ  เมื่อเด็กฟังคนแก่คุยกันมานานแล้ว ก็ถึงคราวให้คนแก่ได้ฟังเด็กๆเขาได้พูดคุยเรื่องราวของเขามั่งเปลี่ยนบรรยากาศ  โอ.เค นะ เง๊ก โพธิ์ เอ้า ชนแก้วหน่อย



                                                   สวัสดีครับ


อยากไปเร็ว  ก็ให้รีบไป   อยากไปไกล  ให้รอไปด้วยกัน
จับตา  สามยาม
27 มค. 2554