สะบายดี บ๊อ ศรีโคตรบูรณ์ ปี 51 นี้ น้ำท่วมอีสานอีกแล้ว คราวนี้มาเต็มๆเลย ระดับน้ำโขงสูงกว่าทุกปี พืชสวนไร่นาเสียหายยับนับแสนไร่ บางพื้นที่น้ำท่วมเกือบมิดหลังคา แต่ที่ดูจะหนักหน่อยก็อยู่ในแถบริมฝั่งโขงตั้งแต่เลยไล่ลงมาถึงมุกดาหาร และข่าวนครพนมน้ำท่วมขังก็ได้โผล่หน้าจอทีวีกะเขาทุกวี่ทุกวัน แต่แปลก ที่ไม่เห็นมีข่าวสส.พลังประชาชนคนใดขมีขมันออกมาช่วยเหลือชาวบ้านเลย แสดงว่าในพรรคยังกรุ่นอยู่กับเรื่องหมายจับ หมายประจานลูกพี่ใหญ่ รึ เรื่องพรรคจะถูกยุบอยู่มะรอมมะร่อ ก็วุ่นซะอย่างนี้ แล้วใครมันจะมีกะจิตกะใจอยากเอาหน้า เอ๊ยทำความดี จริงมั๊ย นี่แหละน๊า ชีวิตที่เอาแน่ไม่ได้ของพวกเสพติดอำนาจทั้งหลายที่ต้องรู้วันมีวันหมด ยามขาขึ้นก็เหมือนกับจะบิน ยามขาลงก็เหมือนกับโดนห่ากิน อาเมน จะด้วยข่าวน้ำท่วมใหญ่ รึไง ในเย็นวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อนเอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อมก็กริ๊งกร๊างมาทักทายด้วยความห่วงใย ก่อนที่มันจะใช้งานเราให้ช่วยพาน้องๆทีมงานไปศึกษาสภาพแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขาในเขตนครพนม หลังจากเขื่อนกั้นน้ำโขงที่จีนสร้างเสร็จแล้ว เพื่อนำมาประเมินความเป็นไปได้กับงานประตูผันน้ำมูลค่าพันกว่าล้าน หนึ่งในโครงการมรดกจากรัฐบาลทักษินเมื่อ 3 – 4 ปีก่อน และรุ่งขึ้นในบ่ายวันเสาว์ ก็มีรถตู้พร้อมคนขับกับสามหนุ่มเอ็นจีโอ แมน ป๊อก อ้วน มารับช่างเขียนพาตะเวนทัวร์ริมฝั่งโขง โดยเส้นทางเริ่มต้นที่สวนหลวง ร.9 มุ่งหน้าสู่ปากน้ำไชยบุรีเป็นช่วงแรก ระหว่างทางขึ้นเหนือ ช่างเขียนก็ทำหน้าที่ไกด์ที่ดี บรรยายสิ่งที่น่าสนใจบนสองข้างถนนเท่าที่จะนึกขึ้นได้ ช่างเขียน – น้องครับ ถนนฝั่งขวามือนี้สร้างเมื่อ 30 กว่าปีก่อนตามนโยบายเงินผันของรัฐบาลหม่อมคึกฤทธิ์และด้วยแรงงานชาวบ้านแท้ๆไม่ใช้ผู้รับเหมา คนที่นี่เขาเรียกว่า ถนนคึกฤทธิ์ หรือ ถนนเงินผัน ว่ากันว่านี่คือ การใช้ประชานิยมครั้งแรกในประเทศไทย ที่ส่วนกลางตั้งใจจัดสรรเงินให้ถึงมือประชาชนโดยไม่ผ่านมือพวกสส. เพราะกลัวจะถูกตอดเล็กตอดน้อย มีใครเกิดทันมั๊ยครับ แมน – ผมเพิ่งจะเกิดได้ 4 ปีเองครับพี่ แต่เคยศึกษาประวัติและผลงานของท่าน ทราบมาว่าท่านเป็นคนเก่งมาก รอบรู้ พูดจาโผงผางแต่คมคายและเฉียบ มีผลงานมากมายไม่ว่างานเขียน งานแสดง เห็นว่า บทความซอยสวนพลูของท่านที่เขียนลงสยามรัฐสมัยนั้นรู้สึกจะโด่งดังมาก เอ ถ้าเทียบลุงหมักกับอาจารย์หม่อมที่ชอบเขียนหนังสือเหมือนกันแล้ว พี่ว่ามีอะไรที่คล้ายๆกันบ้างใหมครับ ช่างเขียน – ก็คล้ายกันประมาณรถมายบัคกับรถมาสด๊ากระมัง คนนึงเป็นราชนิกุล อีกคนเป็นราชบริพาร คนนึงจบอ๊อกฝอร์ดรอบรู้เศดสาดทั้งจุลภาคและมหภาค อีกคนจบระดับพาณิชย์อเมริกันจึงรอบรู้เศดสาดคหภาคอย่างเดียว คนนึงมีวาทะศิลป์ อีกคนชอบวิวาทะศิลป คนนึงได้ฉายาว่า เฒ่าสารพัดพิษ ส่วนอีกคนนี่พี่ว่าแกน่าจะได้ฉายาว่า เฒ่ามุสาระพัดพิษ นะ เห็นด้วยมั๊ย ป๊อก – อันหลังนี่ผมเห็นด้วยพี่ ผมว่าคนอายุปูนนี้แล้วพูดไม่อยู่กระร่องกระรอยแบบ มีปากก็พูด มีตูดก็ตด แสดงว่าหูรูดของแกทั้งบนล่างมันคงจะเสื่อมไปบ้างหละนะ ช่างเขียน – เอ้าดู ตึกสวยๆทางฝั่งขวามือทางริมโขง เห็นใหม นี่ก็คือ ท่าเรืออมตะนิรันดร์กาลแห่งสายน้ำโขงที่ไม่ไหลกลับ มูลค่าหลายร้อยล้าน หนึ่งมรดกบาปฝีมือคนรัฐบาลไทยไม่รักไทย เพราะสร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้งาน เขาว่าต้องรอให้สตง. หรือ ปปช. มาตัดริ๊บบิ๊นซะก่อนจึงจะปิดได้อย่างถาวร ข่าวว่าคนทำยังตัวสั่นคอยหมายจับอยู่ที่ไหนซักแห่ง เอ้าถ่ายรูปเป็นที่ระลึกหน่อย เผื่อว่าสักวันจะเห็นท่าเรือนี้เป็นข่าวหน้าหนึ่ง แต่มรดกบาปแบบนี้ที่นี่ยังมีอีกเยอะนะ เดี๋ยวขากลับจะพาไปดูที่หนองญาติ อ้วน – ผมว่ายังมีงานหลวงอีกนับร้อยที่สร้างเสร็จแล้วใช้งานไม่ได้ น่าเสียดายเงินภาษีของประชาชนนะครับ อย่างคดีคลองด่านนี่หมดเงินไป 20,000 ล้านแล้วก็ยังใช้งานไม่ได้ ยังจะมีคนติดคุกอีกเยอะเลยนี่ ตอนนี้คนขายที่ดินก็เผ่นหนีไปเขมรแล้ว คงเหลือแต่ผู้รับเหมากับข้าราชการอีก2 -3 คนที่ยังรอคุกอยู่ ช่างเขียน – เอ้าถึงไชยบุรีแล้ว ลงแวะกินน้ำกินข้าวก่อน เป็นไงสวยมั๊ย แมน – สวยครับพี่ แต่แหม ผมเสียดายธรรมชาติถ้าหากมีประตูผันน้ำ อันที่จริงนับแต่จีนเขาเปิดใช้เขื่อนยักษ์ เขาไม่เคยให้ข้อมูลกับใครเลย ในเรื่องการกักเก็บน้ำ ว่าจะเก็บในช่วงใดและเท่าไหร่ สมมติว่าปีใดเขาแล้ง เขาก็จะเก็บน้ำไว้ เราอยู่ทางใต้ก็ลำบาก หรือ การระบายน้ำว่าจะปล่อยน้ำเมื่อไหร่ ปริมาณเท่าใด เพราะถ้าเขาระบายน้ำทิ้งมาก เราก็เดือดร้อนเพราะน้ำจะท่วม ดังนั้นทางการต้องใช้เวลาศึกษาระดับน้ำโขงอีกหลายปีเพื่อความแน่ใจ ไม่งั้นจะเสียเงินเปล่า แต่ถ้าพวกนักการเมืองจะเอาให้ได้ ชาวบ้านก็ซวย เพราะระบบนิเวศน์นี่เสียหายแน่ๆ คล้ายๆกับที่ราษีไศลไง ช่างเขียน – ก็เขาจะตุน เอ๊ย สร้างความมั่นคงให้พรรคการเมืองเขา อ้วน – โธ่ พี่ คิดได้ไง ผมว่า คนเกิดแล้วไม่กี่สิบปีก็ตาย แต่ธรรมชาติอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย การบังคับธรรมชาติมันทำได้ก็จริงอยู่แต่ต้องลงทุนสูง แต่การปรับตัวเองให้รับมือกับธรรมชาติได้ก็น่าจะดีกว่า พี่ดูที่โตนเลสาบของเขมรเขาสิ ชีวิตชาวเขมรที่อาศัยอยู่บนทะเลสาบเขามั่นคงมากนะ ทั้งที่สร้างบ้านอยู่บนแพ น้ำจะขึ้นจะลงไม่เห็นมีใครเดือดร้อนเลย ที่สำคัญคือมีปลาอุดมสมบูรณ์มาก ขณะที่ทางจีนลาวไทยจับปลายากขึ้นและหาได้น้อยลงทุกที ในวันนี้ ช่างเขียน – เออ ชักหิวแล้วสิ กินข้าวก่อนนะ เดี๋ยวยังจะไปอีกหลายที่ ป๊อก – อือ พี่ ดูท่า พวกผมคงจะได้ลงมาที่นครพนมอีกบ่อยๆเป็นแน่ แต่คงจะมาค้านนะครับ ไม่ใช่มาสนับสนุน เอ้า พวกเราลงมือ กินเสร็จแล้ว จะได้ออกไปถ่ายรูปกับวัดระดับน้ำกัน ใช้คนโง่แต่ขี้เกียจ ไม่ว่ากัน ใช้คนโง่แต่ขยัน มันอันตราย จับตา สามยาม 2551 |
24 มี.ค. 2553
สะบายดี บ๊อ ศรีโคตรบูรณ์ ( บทความเก่า )
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ความเห็นกับบทความนี้